วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

ประวัติกีฬาบาสเกต


ประวัติกีฬาบาสเกตบอลต่างประเทศ


 กีฬาบาสเกตบอลเป็นกีฬาประเภททีม มีผู้เล่นฝ่ายละ ๕ คน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำ
ลูกบาสเกตบอลไปโยนลงห่วงประตูของฝ่ายตรงกันข้ามให้ได้มากที่สุด โดยมีทักษะการ
เล่น ได้แก่ การส่ง – รับลูกการเลี้ยงลูกและการยิงประตู
         กีฬาบาสเกตบอลมีกำเนิดขึ้น เป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจาก
ดร. เจมส์ เอ เนสมิท (JamesA.Naismith) ได้คิดขึ้นเพื่อเล่นในโรงพลศึกษาของ
โรงเรียนฝึกอบรม ของสมาคมวายเอ็มซีเอนานาชาติ
(International Young Men’s Christian Association Training School)
ที่เมือง สปริงฟีลด์ มลรัฐแมสซาซูเซตส์ ในช่วงที่มีหิมะตก เมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๑ (พ.ศ. ๒๔๓๔)
โดยใช้ตะกร้าลูกพีช ๒ ใบแขวนเป็นประตู จึงทำให้กีฬานี้ได้ชื่อว่าบาสเกตบอล (Basketball)
การเล่นครั้งนั้นใช้ ลูกฟุตบอลเป็นลูกบอล มีผู้เล่นทั้งหมด ๑๘ คน แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย
ฝ่ายละ ๙ คน มีกฎการเล่น ๔ ข้อ คือ
          ๑. ห้ามถือลูกเคลื่อนที่
          ๒. ห้ามมิให้ผู้เล่นปะทะตัวกัน
          ๓. ประตูอยู่ระดับศีรษะและขนานพื้น
          ๔. ผู้เล่นจะถือลูกบอลนานเท่าใดก็ได้ และผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะต้องไม่ถูกตัวผู้เล่น

       ต่อมามีการปรับปรุงการเล่นเป็น ๑๓ ข้อโดยลดผู้เล่นเหลือฝ่ายละ ๕ คน เนื่องจาก
ในการเล่นเกิดการ ปะทะกันเพราะสนามแคบ ดังนั้นจึงทำให้เกมการเล่นสมบูรณ์ยิ่งขึ้นทั้งยัง
ลดการปะทะกันอีกด้วย ในปัจจุบันกติกาการเล่นดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ ณ โรงพลศึกษา
เมืองสปริงฟีลด์ คือ
     ๑. การโยนลูกจะใช้มือเดียวหรือสองมือโดยไปในทิศทางใดก็ได้
     ๒. การตีลูกจะใช้มือเดียวหรือสองมือตีไปทิศทางใดก็ได้
     ๓. ผู้เล่นจะพาลูกบอลวิ่งไม่ได้ และต้องส่งตรงจุดรับลูกบอล ยกเว้นขณะที่วิ่งมารับลูกด้วย
ความเร็วให้เคลื่อนไหวได้เล็กน้อย
     ๔. ต้องจับลูกบอลด้วยมือทั้งสองข้าง โดยไม่ให้ใช้ส่วนอื่นของร่างกาย
     ๕ . การเล่นจะชน คือผลักหรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามล้ม ถือว่าฟาวล์หนึ่งครั้ง ถ้าฟาวล์ครั้งที่สอง
         ให้ออกจากการแข่งขัน จนกว่าจะมีผู้เล่นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยิงประตูได้จึงจะกลับมาเล่นได้อีก           ถ้าเกิดการบาดเจ็บขณะเล่นไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนตัว
     ๖. การทุบด้วยกำปั้นถือว่าผิดกติกาให้ปรับเช่นเดียวกับ ข้อ 5
     ๗ . ทีมใดทำฟาวล์ติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ประตู
     ๘. การได้ประตูทำได้โดยการโยนหรือปัดลูกบอลให้ขึ้นไปค้างบนตะกร้า
     ๙. เมื่อลูกบอลออกนอกสนาม ผู้เล่นนที่จับลูกบอลคนแรกเป็นผู้ทุ่มลูกเข้ามาเล่นต่อ           กรณีที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าใครก่อนหลังผู้ตัดสินจะส่งลูกบอลเข้ามาให้ ผู้ส่งจะต้องส่งลูกบอล
          เข้าสนามภายใน 5 วินาที ถ้าช้ากว่านี้จะให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามส่งแทน ถ้าผู้เล่นถ่วงเวลา
          การเล่นให้ปรับฟาวล์
    ๑๐.ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินผู้ฟาวล์ และลงโทษผู้เล่น
    ๑๑.ผู้ตัดสินทำหน้าที่ตัดสินลูกบอลออกนอกสนาม และรักษาเวลา บันทึกจำนวนลูกที่ได้           และทำหน้าที่ทั่วไปของผู้ตัดสิน
     ๑๒.การเล่นแบ่งเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 15 นาที
     ๑๓.ฝ่ายที่ทำประตูได้มากกว่าเป็นฝ่ายชนะหัวหน้าทีมจะตกลงกันถ้าคะแนนเท่ากัน
          เพื่อต่อเวลาแข่งขัน ถ้าฝ่ายใดทำประตูได้ก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ

          กติกานี้ใช้มาจนถึง ค.ศ. ๑๙๓๗ (พ.ศ. ๒๔๘๐) จึงได้ปรับปรุงแก้ไขครั้งใหญ่เพื่อใช้ใน
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ ๑๑ ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศสเยอรมนี และใน ค.ศ. ๑๙๓๙
(พ.ศ. ๒๔๘๒) ดร.เจมส์ เอ. เนสมิท ก็เสียชีวิตลง ก่อน จะได้เห็นความสำเร็จ และความยิ่งใหญ่
ในกีฬาบาสเกตบอลที่เขาคิดค้นขึ้น ต่อมาจากนั้นกีฬาบาสเกตบอลก็แพร่หลายพัฒนาการเล่น
เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วเป็นที่รู้ ้จักกันทั่วโลก องค์กรที่เกี่ยวข้องกับกีฬาบาสเกตบอลในระดับ
นานาชาติ ได้แก่ สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (ชื่อภาษาอังกฤษ International Amateur Basketball Federation ชื่อภาษาฝรั่งเศส Fe’de’ration International de Basketball Amateur ใช้ชื่อย่อว่า FIBA) นอกจากนี้ยังมีองค์กรในระดับทวีป เช่น สมาพันธ์บาสเกตบอลเอเชีย (Asian Basketball Confederation หรือ ABC) เป็นต้น



ประวัติกีฬาบาสเกตบอลในประเทศ
 ประเทศไทยเริ่มเล่นกีฬาบาสเกตบอลกันตั้งแต่เมื่อใด สมัยใด ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน
อย่างแน่ชัด แต่เท่าที่ค้นคว้าและมีหลักฐานยืนยันว่าในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นายนพคุณ
พงษ์สุวรรณ อาจารย์สอนภาษาจีนได้แปลกติกา การเล่นบาสเกตบอลจากภาษาอังกฤษ
เป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก

       พ.ศ ๒๔๗๗ กรมพลศึกษาได้จัดการแข่งขันกีฬา บาสเกตบอลระดับนักเรียนขึ้น
เป็นครั้งแรก สมัยที่ น.อ หลวงศุภชลาศัย ร.น ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพลศึกษา

       พ.ศ ๒๔๙๕ ได้มีการจัดการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลระหว่างนักเรียนหญิง และ
การแข่งขันระหว่างประชาชนทั่วๆไป

     พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้มีการจัดตั้งสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย และได้เป็นสมาชิก สมาคมบาสเกตบอลระหว่างประเทศตั้งแต่ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๖
      ปัจจุบันกีฬาบาสเกตบอลถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนแทบ ทุกระดับการศึกษา
คือตั้งแต่ระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา นอกจากนี้ยังมี การแข่งขัน อยู่ตลอดเวลา
องค์กรสำคัญที่ส่งเสริมและจัดการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล ในประเทศไทย ได้แก่
สมาคมบาเกตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ กรมพลศึกษา กรุงเทพมหานคร
การกีฬาแห่งประเทศไทย ทบวงมหาวิทยาลัย (กีฬามหาวิททยาลัย) กองทัพ (กีฬาเหล่าทัพ) กองทัพอากาศ (กีฬานักเรียน) สถาบันการศึกษาทั่วไป 


ประโยชน์ของการเล่นกีฬาบาสเกตบอล
 กีฬาบาสเกตบอลเป็นกีฬาที่ทำให้ผู้เล่นได้รับประโยชน์ดังนี้
๑. ช่วยพัฒนาส่งเสริมสมรรถภาพด้านต่าง ๆ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา
     อารมณ์และสังคมแก่บุคคล
๒. ช่วยพัฒนาส่งเสริมกลไกการเคลื่อนไหวของร่างกาย (motor skills) ให้ทำงานประสาน
     กันดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมือ เท้า สายตาให้เคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง
๓. เป็นกิจกรรมนันทนาการสำหรับพักผ่อน คลายความตึงเครียด แก่ผู้เล่นและผู้ชม
๔. ช่วยฝึกการตัดสินใจ และรู้จักคิดแก้ปัญหา ตลอดจนมีสมาธิที่ดี
๕. ช่วยฝึกให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะ และรู้จักให้อภัย
๖. ใช้เป็นสื่อนำในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและส่วนรวม
๗. ใช้เป็นสื่อนำในการจัดการกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา
๘. ผู้เล่นที่มีความสามารถจะทำชื่อเสียงให้แก่ตัวเอง วงศ์ตระกูล และประเทศชาติ
๙. เป็นวิชาชีพด้านหนึ่งสำหรับงานกีฬา เช่น การแข่งขันกีฬาบาสเกตบอลอาชีพ
    เป็นต้น

มารยาทของผู้เล่นและผู้ดูกีฬาบาสเกตบอลที่ดี
๑. มีความรู้เรื่องระเบียบและกฎกติกาการเล่น
๒. แต่งกายด้วยชุดที่เหมาะสมต่อการเล่นหรือการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล
๓. เล่นกีฬาด้วยความสนุกสนานและมีมารยาท มีความสุภาพทั้งกิริยาท่าทางตลอดจนคำพูด
๔. ให้เกียรติและเชื่อฟัง ยอมรับคำตัดสินของผู้ตัดสิน
๕. มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักให้อภัย
๖. เป็นผู้ที่ตรงต่อเวลา
๗. ไม่ควรดูถูกความสามารถผู้อื่น จะด้วยวาจาหรือท่าทาง
๘. ควรแสดงความยินดีและชมเชยเมื่อผู้เล่น เล่นได้ดี
๙. ควรเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้เล่นบ้างเมื่ออุปกรณ์มีจำกัด
๑๐. ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการยั่วยุหรือกลั่นแกล้งผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม
๑๑. ต้องเล่นตามระเบียบตามกติกาที่กำหนดไว้
๑๒. เชื่อฟังคำสั่งของหัวหน้าทีมหรือผู้ฝึกสอน และต้องปฏิบัติตาม
๑๓. มีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมาย
๑๔. รู้จักระงับอารมณ์เมื่อเกิดการยั่วยุจากฝ่ายตรงข้าม
๑๕. ไม่ครอบครองลูกบอลแต่เพียงผู้เดียวต้องแจกจ่ายให้เพื่อนร่วมทีมบ้าง
๑๖. เมื่อเล่นกีฬาแพ้หรือชนะไม่ควรดีใจหรือเสียใจจนเกินไป
๑๗. การเล่นกีฬาต้องเล่นอย่างสุดความสามารถไม่ว่าตนเองจะเป็นฝ่ายแ้พ้หรือชนะ
๑๘. หลังจากการแ่ข่งขันแล้วไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะจะต้องฝึกซ้อมให้ดียิ่งขึ้น
๑๙. มีความตั้งใจในการฝึกซ้อม และมีความอดทน
๒๐. ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ในขณะฝึกซ้อมหรือแ่งขัน
๒๑. หลังจากฝึกซ้อมแล้วต้องเก็บอุปกรณ์ให้เรียบร้อย
มารยาทของผู้ชมกีฬาบาสเกตบอลที่ดี
๑. ปรบมือแสดงความยินดีแก่ผู้เล่นที่เล่นได้ดี ผู้เล่นมีมารยาทดี ทีมชนะการแข่งขันหรือผู้เล่น
     ที่ได้รับรางวัล
๒. ไม่แสดงอาการหรือส่งเสียงยั่วยุจนทำให้ผู้เล่นหรือกองเชียร์ฝ่ายตรงข้ามเกิดโทสะ
๓. ไม่กระทำตัวเป็นผู้ตัดสินเสียเอง เช่น ตะโกนด่า ใช้สิ่งของขว้างปานักกีฬา ผู้ตัดสิน ผู้ชม
     หรือคัดค้านการตัดสิน
๔. ไม่ควรสูบบุหรี่หรือเสพเครื่องดื่มมึนเมาขณะชมการแข่งขัน
๕. ไม่แสดงกริยาท่าทาง ส่งเสียง ยั่วยุอันเป็นอุปสรรคต่อการเล่นของผู้เล่น และผู้ตัดสิน
๖. นั่งดูด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยในที่ที่จัดไว้ ไม่ยืนเกะกะบังผู้อื่น
๗. ปรบมือให้เกียรติเมื่อกรรมการผู้ตัดสินและนักกีฬาลงสนาม
๘. ควรศึกษากฏกติกาการแข่งขันกีฬาที่ตนดูเป็นอย่างดี
๙. การชมเป็นหมู่คณะ ควรนั่งรวมกันเป็นกลุ่มและเชียร์ด้วยเพลงสุภาพ
๑๐.ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในเมื่อเกิดเหตุความวุ่นวายในสนาม
๑๑. สนับสนุนให้กำลังใจและให้เกียรตินักกีฬาทุกชนิดเพื่อเป็นการส่งเสริมการกีฬาของชาติ
๑๒. ไม่ควรเปล่งวาจาสนับสนุนผู้เล่นในทางที่ผิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น